ความเป็นมาของโครงการ


คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๕๓ มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปดำเนินการศึกษาแนวทางและกำหนดมาตรการในการนำเทคโนโลยีระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก (Global Positioning System: GPS) มาใช้ติดตั้งกับรถสาธารณะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุม รวมทั้ง เพื่อตรวจสอบและยกระดับความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาและลดอุบัติเหตุทางถนนได้ กระทรวงคมนาคมจึงได้กำหนดนโยบายในการพัฒนากระบวนการควบคุมและบริหารจัดการระบบการขนส่งทางถนนขึ้น เพื่อยกระดับความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ๆ ให้สามารถแก้ไขปัญหาและลดอุบัติเหตุจากการขนส่งทางถนน และภาคการขนส่งอื่น ๆ ควบคู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งได้โดยประกอบด้วยแนวทางในการดำเนินงานสำคัญ ๓ ส่วน ได้แก่ การออกแบบสถาปัตยกรรมกระบวนการควบคุมและบริหารจัดการจราจร การออกแบบสถาปัตยกรรมกระบวนการบริหารจัดการขนส่งและโลจิสติกส์และการออกแบบสถาปัตยกรรมการบริหารจัดการข้อมูล ซึ่งจะเป็นกระบวนการของศูนย์บูรณาการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแห่งชาติ (National Multimodal Transport Integration Center: NMTIC) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการ เมื่อ ๓ พฤษภาคม ๒๕๕๔

กระทรวงคมนาคมได้เสนอแนวทางการพัฒนากระบวนการควบคุมและบริหารจัดการระบบการขนส่ง เพื่อยกระดับความปลอดภัย และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งโดยการออกแบบสถาปัตยกรรมกระบวนการ ระบบงาน ระบบสารสนเทศ และเทคโนโลยีในภาพรวมของระบบการขนส่งของประเทศ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับข้อมูลการจราจรตามมาตรการในการนำระบบ GPS มาใช้ติดตั้งกับรถสาธารณะ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการบูรณาการด้านการบริหารจัดการ การปฏิบัติงาน การให้บริการ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างระบบ โดยเฉพาะข้อมูลด้านการจราจรทางบกและรถสาธารณะ ซึ่งมีบทบาทสำคัญ และเป็นทางเลือกหลักในการคมนาคมขนส่งโลจิสติกส์ในภาพรวมของประเทศ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการ ด้านความปลอดภัยและด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง อีกทั้งยังสามารถต่อยอดแนวคิดเพื่อเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น ๆ ได้อีกด้วย โดยมีแผนผังภาพรวมแสดงการทำงานของศูนย์ NMTIC ดังรูป




ศูนย์ NMTIC มีภารกิจในการบริหารจัดการข้อมูลดิจิทัล รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลสู่กลุ่มเป้าหมาย เพื่อใช้ในกระบวนการควบคุมและบริหารจัดการระบบขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง และโลจิสติกส์ และยกระดับคุณภาพความปลอดภัย โดยเชื่อมโยงระบบข้อมูลของทุกภาคการขนส่ง ซึ่งจะทำงานร่วมกับศูนย์ข้อมูลด้านเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ ศูนย์กลางการบริหารจัดการ และควบคุมระบบกล้องวงจรปิดของกระทรวงคมนาคม (ศูนย์ CCTV) ศูนย์ข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (ศูนย์ GIS) และศูนย์พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (ศูนย์ MIS) เพื่อบูรณาการข้อมูลดิจิทัลสำหรับ การเป็นคลังข้อมูล และการพัฒนาระบบงานประยุกต์ที่สามารถตอบสนองต่อผู้ใช้งานทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชาชนทั่วไป ดังรูป




ในการนี้เพื่อให้ศูนย์ NMTIC มีข้อมูลแบบทันกาล (Real - Time) ที่หลากหลาย เพียงพอต่อความต้องการใช้งาน สามารถรองรับการออกแบบระบบสารสนเทศ รองรับการเพิ่มประสิทธิภาพระบบการคมนาคมขนส่งและระบบ โลจิสติกส์ และการเพิ่มคุณภาพความปลอดภัยในระบบคมนาคมขนส่งของประเทศ จึงเห็นควรพัฒนาโครงสร้างระบบสารสนเทศ และระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของศูนย์ NMTIC ให้รองรับโครงสร้างการทำงานสำหรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำโครงการพัฒนาศูนย์บูรณาการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแห่งชาติ ระยะที่ ๒ ขึ้น


วัตถุประสงค์


๑) เพื่อปรับปรุงและพัฒนาโครสร้างระบบสารสนเทศของศูนย์ NMTIC ให้รองรับโครงสร้างการทำงานสำหรับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และการประมวลผลข้อมูลแบบทันกาล

๒) เพื่อพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลของระบบ NMTIC ให้รองรับข้อมูลขนาดใหญ่และทันกาล แก่หน่วยงานภายในสังกัดกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานภายนอกที่มีความพร้อม และสอดรับแผนยุทธศาสตร์คมนาคมดิจิทัล ๒๐๒๑ ของกระทรวงคมนาคม

๓) เพื่อเชื่อมโยงและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหน่วยงานคมนาคมที่เกี่ยวข้อง และมีระบบงานพร้อม ให้ดำเนินการเชื่อมต่อ เช่น สภาพจราจรบนทางพิเศษ ระบบจัดเก็บข้อมูลผู้โดยสารบนรถเมล์ของ ขสมก. ข้อมูลจากศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุ และข้อมูลด่านชั่งน้ำหนัก (Weigh-in-motion) ของกรมทางหลวง เป็นต้น และจัดทำระบบแสดงผลสรุปเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้บริหาร (Executive Dashboard) ในรูปแบบของ Web Application

๔) เพื่อพัฒนามาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูล Sensor และมาตรฐานการรักษาความปลอดภัย ของข้อมูล (Cyber Security) ของศูนย์ NMTIC

๕) เพื่อพัฒนาศักยภาพระบบฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ ของศูนย์ NMTIC


เป้าหมาย


กระทรวงคมนาคมมีศูนย์บูรณาการการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบแห่งชาติ เพื่อยกระดับความปลอดภัย เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งและโลจิสติกส์ และเชื่อมโยงกับระบบขนส่งอื่น ๆ เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูล ด้านระบบการขนส่ง และมีข้อมูลในการกำหนดแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาและลดอุบัติเหตุ


ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ


๑) สามารถสนับสนุนกระบวนการบริหารจัดการเพื่อยกระดับความปลอดภัย และประชาชนผู้รับบริการด้านคมนาคมขนส่ง มีความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น

๒) สามารถรองรับการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนข้อมูลของกระบวนการที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ ในการตัดสินใจ การปฏิบัติงาน และการให้บริการ

๓) ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาด้านการขนส่ง และการบูรณาการข้อมูล ในอันที่จะส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบการขนส่งอย่างทั่วถึงและยั่งยืน